อินเดีย – ปากีสถาน 14 กับ 15 เป็นเลขที่มีความสำคัญกับปากีสถานและอินเดียตามลำดับ เพราะวันที่ 14 สิงหาคมคือวันชาติของปากีสถาน และวันที่ 15 สิงหาคมก็เป็นวันชาติของอินเดียตามมาติดๆ ซึ่งมันมีเหตุผลที่วันชาติของทั้งสองประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกันนั้นเรียงตามกันมา ไม่ได้เป็นเพราะความบังเอิญแต่อย่างใด เหมือนกับที่ความเกลียดชังของทั้งสองชนชาติก็ไม่ได้เกิดเพราะความบังเอิญเช่นกัน
จุดเริ่มต้นปัญหาความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ อาจสรุปคร่าวๆ ได้ว่ามีสาเหตุมาจากความแตกต่างทางศาสนา ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าความขัดแย้งทางศาสนามักจะเป็นเรื่องที่ ‘จบไม่สวย’ เสมอ เพราะต้นเหตุของความขัดแย้งเป็นเรื่องของความเชื่อ ซึ่งไม่อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผลที่เป็นรูปธรรม ความขัดแย้งทำนองนี้มักจะทำให้ปัญหาไม่ยอมจบ นั่นทำให้ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และนับวันยิ่งฝังรากลึก
แม้จุดเริ่มต้นจะเกิดจากปมทางด้านศาสนา ทว่าความขัดแย้งของทั้งสองชาตินี้ก็พัฒนามาเป็นความขัดแย้งในเกือบทุกรูปแบบ ทั้งการรบในสังเวียนสงครามของดินแดนแคชเมียร์ การทำสงครามเศรษฐกิจ และแน่นอนว่ายังรวมถึงสงครามในสนามหญ้าของกีฬาที่มีความนิยมอันดับต้นๆ ของชนชาติเครือจักรภพอย่าง ‘คริกเกต’ ด้วย
ไม่นานมานี้ ราวปลายเดือนตุลาคม 2021 ช่วงที่มี การแข่งขันคริกเกตชิงแชมป์โลกที 20 ก็ยังมีเรื่องความขัดแย้งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ และไม่ใช่กับนักกีฬาหรือในสนามหญ้า แต่เกิดขึ้นกับแฟนๆ กีฬาธรรมดาทั่วไป เพราะมีการจับกุมนักศึกษาแคชเมียร์ 3 คนโดยตำรวจอินเดีย ทั้ง 3 ผู้ต้องหาทำการฉลองชัยชนะของปากีสถานเหนืออินเดียในการแข่งขันคริกเกตรายการนี้ และทั้งหมดถูกตั้งข้อหา ‘ส่งเสริมความเป็นปฏิปักษ์และการก่อการร้ายในโลกไซเบอร์’
นั่นเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า หนึ่งในเวทีความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานนั้นมีคริกเกตมาเกี่ยวข้องด้วย และวันนี้จะพาไปทำความรู้จักจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งอันโหดร้าย จนกลายเป็นสงครามของสองเชื้อชาติที่อาจมีจุดเริ่มต้นอารยธรรมร่วมกัน นี่คือเรื่องราวความขัดแย้งของอินเดียและปากีสถานในสนามคริกเกต
ก่อนจะมาเป็น อินเดีย-ปากีสถาน
อินเดีย – ปากีสถาน ก่อนถูกผนวกเข้าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ พื้นที่แถบชมพูทวีปถูกปกครองในระบบ ‘แคว้น’ เหมือนที่เราเคยศึกษาในวิชาพระพุทธศาสนาว่า พระพุทธเจ้าดำเนิน 7 ก้าว คือสัญลักษณ์แทนการเผยแพร่ของพุทธศาสนาไปถึงแคว้นทั้ง 7 และนั่นเป็นตัวอย่างว่าพื้นที่ในแถบนี้ถูกปกครองแบบแว่นแคว้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล จวบจนถูกจักรวรรดิอังกฤษผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของของพวกเขา
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อว่า เดิมทีอังกฤษไม่ได้ต้องการผนวกดินแดนย่านนี้ทั้งหมดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในจักรวรรดิ ชาวผู้ดีเพียงแค่ต้องการทรัพยากรบางอย่างและช่องทางทำการค้าบนพื้นที่ย่านนี้เท่านั้น แต่จากความวุ่นวายหลังการเสื่อมอำนาจของฝรั่งเศสสืบเนื่องจากการปฏิวัติปี 1789 ประกอบกับการต่อต้านราชวงศ์โมกุลที่ปกครองอินเดียในตอนนั้น กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้อังกฤษเลือกเข้ามาปกครองเหนือพื้นที่ในย่านนี้อย่างเป็นรูปธรรม
จักรวรรดิอังกฤษสถาปนา ‘ บริติชราช ’ (British Raj) ขึ้นมาเพื่อดูแลอินเดียให้อยู่ภายใต้ความปกครองในปี 1858 โดย บริติชราชประกอบไปด้วยการปกครองสองรูปแบบ คือดินแดนที่ปกครองโดยเจ้าพื้นเมือง กับดินแดนที่ปกครองโดยรัฐบาลกลางที่ถูกเรียกว่า ‘บริติชอินเดีย’ แต่ไม่ว่าจะปกครองแบบไหน ดินแดนทั้งหมดล้วนอยู่ในบังคับของสหราชอาณาจักรทั้งหมด
นับจากการ สถาปนาบริติชราช อังกฤษก็ปกครองอินเดียต่อมาอย่างยาวนาน จวบจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะถึงแม้ในสงครามโลกครั้งนั้น อังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตรจะเป็นผู้ชนะสงคราม แต่พวกเขาก็สูญเสียทรัพยากรไปอย่างมหาศาลจากการสู้รบที่เกิดขึ้น ทำให้จักรวรรดิอังกฤษตัดสินใจวางแผนที่จะปล่อยให้พื้นที่ย่านเอเชียใต้ตรงนี้เป็นเอกราช ท่ามกลางการเคลื่อนไหวแบบสันติอหิงสาของ มหาตมะ คานธี และนักเคลื่อนไหวทางสังคมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อทวงความเป็นเอกราชมาสู่ดินแดนแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเอกราช เค้าลางแห่งความขัดแย้งก็กำลังคืบคลานเข้ามาสู่ผู้คนหลายสิบล้านบนแผ่นดินผืนนี้ และหายนะก็เกิดขึ้นในวันที่ จักรวรรดิอังกฤษ เปลี่ยนใจลอยแพบริติชราชให้เป็นเอกราชแบบดื้อๆ ทั้งที่มันเร็วกว่ากำหนดเดิมนับ 10 เดือน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ ‘ปากีสถาน’ และ ‘อินเดีย’ ที่เต็มไปด้วยเลือดและความสูญเสีย
การจากไปพร้อมทิ้งระเบิดเวลาไว้ของอังกฤษ
อินเดีย – ปากีสถาน ย้อนไปก่อนการประกาศเอกราชของอินเดียและปากีสถานสักนิด ในตอนที่อังกฤษวางแผนจะประกาศเอกราชให้พื้นที่บริติชราช ซึ่งเป็นอินเดียและปากีสถานในปัจจุบัน ในตอนนั้นกลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของอินเดียก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ส่งมาจากประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ การวิ่งเต้นและพยายามเคลื่อนไหวก็ถูกแสดงออกมาอย่างต่อเนื่อง และชัดเจนขึ้นเป็นระยะ จากหลายความพยายามในการปลดปล่อยบริติชราชให้เป็นอิสระ มี 3 ชื่อผู้นำซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ มหาตมะ คานธี, ชวาหะร์ลาล เนห์รู และมูฮาหมัด อาลี จินนาห์
คานธีและเนห์รูเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันและมีชื่อเสียงร่วมกันในการเรียกร้องเอกราชให้อินเดีย ก่อนที่เนห์รูจะกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย แต่ทางด้าน มูฮาหมัด อาลี จินนาห์มีแนวคิดที่ต่างออกไป อันเนื่องมาจากเขาเป็นชาวมุสลิม ดังนั้นเขาจึงเรียกร้องเอกราชและสิทธิให้กับชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม จนทำให้ท้ายที่สุดจักรวรรดิอังกฤษ ก็ยอมแบ่งบริติชราชออกตามการนับถือศาสนา ซึ่งทำให้พื้นที่ภายใต้การดูแลตรงนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศในท้ายที่สุด นั่นคืออินเดียและปากีสถาน โดยอินเดียคือพื้นที่ของชาวฮินดูและศาสนาอื่นๆ ขณะที่ปากีสถานคือพื้นที่ของชาวมุสลิม
ฟังเผินๆ เหมือนจะดี แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ออกมาดีเหมือนแนวคิดที่เกิดขึ้น เมื่อจักรวรรดิอังกฤษตัดสินใจฟ้าแลบถอนทหารออกจากอินเดียภายในเดือนสิงหาคม 1947 ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนดไว้ราว 10 เดือน ทุกอย่างจึงเกิดขึ้นบนความเร่งรีบ แม้แต่แผนที่ของทั้งสองประเทศที่ถูกเขียนโดยอังกฤษ ก็ยังเสร็จไม่ทันวันประกาศเอกราชของทั้ง อินเดียและปากีสถาน (ตามข้อมูลบอกว่า แผนที่ออกมาหลังวันประกาศเอกราชราว 2 วัน)
นอกจากนี้ การแบ่งประเทศด้วยศาสนา ยังนำมาซึ่งการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมวลมนุษยชาติ เพราะที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ ชาวฮินดู ชาวมุสลิม และชาวศาสนาอื่นๆ ล้วนอยู่ร่วมกันมาตลอด การประกาศว่า อินเดียจะเป็นพื้นที่ของศาสนาฮินดูและอื่นๆ ที่มีประชากรราว 2 ใน 3 และปากีสถานจะเป็นพื้นที่ของชาวมุสลิมที่มีประชากรราว 1 ใน 3 ทำให้คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาในพื้นที่นั้นต้องอพยพไปยังอีกประเทศหนึ่ง กล่าวคือชาวมุสลิมก็หาทางอพยพไปในพื้นที่กำลังจะกลายเป็นปากีสถาน ส่วนชาวฮินดูที่อยู่ในพื้นที่ที่กำลังจะเป็นปากีสถานก็ต้องเดินทางกลับมาสู่พื้นที่ที่กำลังจะเป็นอินเดีย
การอพยพครั้งนี้เป็นการอพยพของคนจำนวน มหาศาลราว 14-15 ล้านคน ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่วัน ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการสูญเสียของชีวิตคนราว 1-2 ล้านคน สาเหตุหลักๆ มาจากการความขัดแย้งระหว่างศาสนา ทำให้มีการเข่นฆ่ากันระหว่างอพยพ ทั้งการชิงทรัพย์ ข่มขืน รวมไปถึงเผาที่อยู่อาศัยรายทาง เพื่อไม่ให้เป็นประโยชน์ต่อชาวต่างศาสนาที่จะมาใช้งานในอนาคต
สิ่งสำคัญที่ทำให้ความเสียหายรุนแรงขึ้นและกลายเป็นความขัดแย้งลุกลามใหญ่โตคือข่าวลือแบบปากต่อปาก เมื่อมีเสียงลือว่า ชาวฮินดูฆ่ามุสลิม มาถึงหูชาวมุสลิม ก็ทำให้เกิดความเกลียดชังต่อชาวฮินดูในหมู่มุสลิม และก็เกิดเหตุแบบเดียวกันนี้กับชาวฮินดูเช่นกัน นั่นเองที่ทำให้การอพยพครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตมากมายนับล้านคน
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นการก่อร่างสร้างชาตินี้ ยิ่งทำให้การแยกประเทศกลายเป็นจุดแตกร้าวระหว่างชาวมุสลิม และฮินดู หรือจะเรียกในนามประเทศใหม่ว่าชาวปากีสถานและชาวอินเดียมาตั้งแต่แรกเลยก็ว่าได้